อุตสาหกรรม 4.0

อุตสาหกรรม 4.0

          อุตสาหกรรม 4.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ที่ล้ำสมัยในการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (Machine-to-Machine หรือ M2M) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของระบบอัตโนมัติ, เพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและการตรวจสอบระบบ, และเพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์ แต่เดิมโลของเรานั้นมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้วถึง 3 ครั้ง ดังนี้

  1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก (First Industrial Revolution) คือ การเปลี่ยนจากวิธีการผลิตด้วยมือไปสู่เครื่องจักรโดยใช้พลังไอน้ำและพลังงานน้ำ เป็นช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1760-1820 ในสหราชอาณาจักร (เกาะอังกฤษ) หรือปี ค.ศ.1840 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
  2. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง (Second Industrial Revolution) หรือที่เรียกว่า การปฏิวัติเทคโนโลยีเป็นช่วงเวลาระหว่างปีพ. ศ. 2414 ถึง 2457 ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตั้งเครือข่ายทางรถไฟและโทรเลขที่กว้างขวางซึ่งทำให้สามารถถ่ายโอนผู้คนและความคิดได้เร็วขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าและการเพิ่มพลังงานไฟฟ้า
  3. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม หรือ ที่เรียกว่า การปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หลังจากสงครามโลกทั้งสองสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อันมีชนวนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ.1929

อุตสาหกรรม 4.0 คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า และมีจุดเด่นคือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง เช่น โรงงานยุค 3.0 ผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว แต่ต่อไปโรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันได้เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว  โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรแบบ “Smart Factory” สรุปอย่างง่ายก็คือ อุตสาหรรม 4.0 นั้น เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้  โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การบูรณาการระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน

สำหรับประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล เน้นส่งเสริมการขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริม E-Commerce, E-Documents และ E-Learning สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการวางพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ไทยก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังเป็นการปูทางรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย การมีระบบบริหารจัดการที่ดีเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับกับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้นมีประสิทธิภาพและแข่งขันกับตลาดโลกได้